Autophagy - ดีท๊อกซ์ระดับเซลล์ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง!
- dr.bunlue
- 3 days ago
- 1 min read

เมื่อเราไม่ได้รับประทานอาหาร จะเกิดอาการหิวตามมา ทำให้ร่างกายจะเริ่มขาดแคลนพลังงาน ดังนั้นร่างกายเราจะเริ่มกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง เพื่อรองรับภาวะวิกฤตินี้ ด้วยการรีไซเคิล เพื่อกำจัดเซลล์ป่วยและเซลล์เก่า
ออโตฟาจี (Autophagy) - ดีท๊อกซ์ระดับเซลล์!
เวลาท้องร้อง "กรู๊ดๆ" นั่นไม่ใช่แค่สัญญาณความหิวธรรมดาทั่วไปที่เราเข้าใจกันนะครับ แต่เป็นเสมือนการส่งสัญญาณเตือนให้ร่างกายเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะขาดแคลนที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการเปิดโหมด ทำความสะอาดระดับเซลล์ ที่เรียกกันว่า ออโตฟาจี (Autophagy) แปลเป็นไทยเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย คือ การล้างบ้าน นั่นเอง!
ออโตฟาจี เป็นกระบวนการรีไซเคิลชิ้นส่วนภายในเซลล์เก่าๆ เซลล์ที่เสื่อมสภาพและเซลล์ป่วยที่ร่างกายไม่ใช้งานแล้ว เอามาทำการรีไซเคิลไปเป็นพลังงานหรือทิ้งไปเลย เหมือนเวลาที่พวกเราทำการล้างห้องเก็บของ และก็จัดการทิ้งขยะเก่าๆ นั่นแหละครับ
ออโตฟาจี ทำงานยังไง?
พอเราอดอาหารนาน 14-16 ชั่วโมงขึ้นไป (เช่น กินข้าวเย็น 2 ทุ่ม แล้วอดจนถึงเที่ยงวันรุ่งขึ้น) ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลง ร่างกายจะสลับโหมดจาก ย่อยอาหาร มาเป็น ซ่อมแซม โดยร่างกายเราจะเริ่มทำการล้างเซลล์เสื่อม โปรตีนผิดรูป ของเสียภายในเซลล์ หรือสารพิษที่ตกค้างอยู่ หรือไม่ก็ทำการรีไซเคิลบางส่วนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ ได้เซลล์เดิมที่มีสุขภาพดีขึ้น ลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม เบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ เป็นต้น
งานวิจัยยืนยันกระบวนการนี้มีจริง!
นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลปี 2016 จากการค้นพบกระบวนการนี้ การทดลองพบว่า "การอดอาหารเป็นช่วงๆ" ช่วยให้สัตว์อายุยืนขึ้น ส่วนมนุษย์ที่ลองทำ IF (Intermittent Fasting) เช่น กินแค่ 8 ชั่วโมง/วัน พบว่า หัวใจแข็งแรงขึ้น สมองทำงานดี แถมหน้าดูอ่อนเยาว์และเด็กลงด้วย! แม้แต่การอดอาหารต่อเนื่องนาน 24 ชั่วโมง (นานๆ ครั้ง) ก็ช่วยล้างเซลล์ได้ดีมาก
ความหิวเป็นยาวิเศษที่เรามองข้าม
ในสมัยก่อนคนโบราณหิวบ่อยเพราะอาหารขาดแคลน แต่ยุคนี้เรากินตลอดเวลา ร่างกายเลยไม่มีเวลาล้างของเสียสะสม การอดอาหารช่วงสั้นๆ ไม่ใช่การทรมานตัวเอง แต่เป็นเวลาที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารได้พัก แล้วใช้พลังงานที่มีจำกัดไปซ่อมแซม รีไซเคิลร่างกายแทน
ต้องทำยังไง?
เริ่มต้นทำง่ายๆ ด้วยการอด 12-14 ชั่วโมงก่อน (เช่น กินข้าวเย็น 2 ทุ่ม แล้วค่อยกินมื้อเช้า 8 โมง) ไม่ต้องหักโหม! ถ้ารู้สึกเวียนหัว หรือปั่นป่วนท้องมากให้กินทันที สำหรับคนท้อง/คนป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนลอง
ถ้าสนใจจะศึกษาข้อมูลก่อนลงมือทำ เข้าไปอ่านบทความเรื่อง การอดอาหารแบบ Intermittent Fasting มีกี่วิธี?
สรุป
ครั้งหน้าเมื่อหิว ลองทนอีกซัก 10-15 นาที ปล่อยให้ร่างกายได้ทำความสะอาดตัวเอง บางทีความหิวนิดๆ อาจเป็นเพื่อนซี้ตัวดี ที่ช่วยให้คุณสุขภาพดีขึ้นแบบไม่รู้ตัวเลยนะ!
อ้างอิง:
Historical landmarks of autophagy research - Ohsumi, Y. (2014)
Impact of intermittent fasting on health and disease processes - Mattson, M. P., et al. (2017)
Fasting, Circadian Rhythms, and Time-Restricted Feeding in Healthy Lifespan - Panda, S. (2016)
Biological Functions of Autophagy Genes: A Disease Perspective - Levine, B., & Kroemer, G. (2019)
Compromised autophagy and neurodegenerative diseases - Menzies, F. M., et al. (2015)
Defective hepatic autophagy in obesity promotes ER stress and causes insulin resistance - Yang, L., et al. (2010)
Comments